วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คนพุทธ

     เรามักบอกกับชาวโลกว่า เราเป็น “ชาวพุทธ”  เรามีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เราคือ พุทธศาสนิกชน เราเรียกตนเองว่า “คนพุทธ” เรียกคนนับถือศาสนาคริสต์ว่า ชาวคริสต์ หรือ คนคริสต์  เรียกคนนับถือศาสนาอิสลามว่า “แขก” …

บทความนี้ ขอใช้คำว่า “คนพุทธ” แทนคำว่า “ชาวพุทธ” เพื่อให้คล้องกับหมวดหมู่  คือ เรื่องของ “คน” เรา เขา เธอ  เท่านั้น

     สำหรับเมืองไทยเรา คนที่มีพ่อแม่นับถือศาสนาพุทธ  บุตรที่เกิดมามักจะต้อง นับถือศาสนาพุทธ ตามผู้เป็นพ่อแม่  ถึงแม้ว่าตามกฎหมายจะให้สิทธิเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้  แต่เด็กทารกแรกเกิดจะไปเลือกอะไรได้  ทำได้เพียง “แอ้..แอ้..งอแง” เท่านั้น

เมื่อโตขึ้น เราจึงเป็น “คนพุทธ” ไปโดยปริยาย  โดยที่บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “พุทธ” แปลว่าอะไร?

     มีคนบอกว่า ความเป็นพุทธ นั้นมีอยู่ในทุกคน ตั้งแต่แรกเกิด  มันมีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเกิดมาในครอบครัวของผู้ที่นับถือศาสนาหรือลัทธิความเชื่อใดก็ตาม...เพราะ

 “พุทธะ” ไม่มี “ศาสนา” 
           ไม่ใช่ “ลัทธิความเชื่อ”
           เป็นสิ่งที่เรียกว่า  “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”
           คนทุกคนมีโอกาสที่จะเข้าถึง “พุทธะ” ได้เหมือนกันทุกคน

     หากข้อความข้างต้น เป็นความจริง นั่นแสดงว่า การเข้าถึง “พุทธะ” ที่มีอยู่แล้วในแต่ละคน ก็คือ การเข้าไปรู้จักตนเอง  เข้าไปศึกษาภายในตนเอง  เข้าไปทำให้ “พุทธะ” ที่ถูกปกคลุมอยู่ด้วยม่านหมอกของกิเลส  เปิดเผยออกมา ส่องสว่างนำทางชีวิต  ให้รู้จักความจริง ตื่นจากการหลับใหล เบิกบานด้วยธรรมะ…

     ดังนั้น ไม่ว่าใคร ก็เป็น "คนพุทธ" ได้  หากเขาเหล่านั้น ได้พยายามทำความเข้าใจ ศึกษา และลงมือปฏิบัติ เพื่อการเข้าถึง “พุทธะ”  ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะถูกเรียกขานจากคนอื่นว่า แขก, ฮินดู, ฝรั่ง  หรือถูกเรียกขานตามชาติกำเนิด, ที่เกิด, ผิวพรรณ  ก็ไม่สำคัญ เพราะเขาคือ "คนพุทธ" ที่แท้จริง

     ไม่สำคัญเลย ที่จะต้องเกิดประเทศไทย หรือ พม่า หรือ ลาว หรือ จีน หรือ ทิเบต หรือ ภูฐาน
     ไม่จำเป็นเลย ที่จะต้องเปลี่ยนศาสนาที่ระบุตามบัตรหรือเอกสาร เพื่อบอกว่า เราคือ “คนพุทธ”

     เพียงแต่เบื้องต้น เราต้องพิจารณา แยกแยะให้ออกว่า สิ่งใดเล่า คือ สิ่งที่พุทธองค์ทรงสอน, สิ่งใดเล่าคือสิ่งที่พุทธองค์ทรงให้เราปฏิบัติ, สิ่งใดเล่าคือแก่นของธรรมะ, สิ่งใดเล่าคือธรรมะที่แท้จริง คือ ความจริงของธรรมชาติ  ซึ่งนี่จะเป็นหนทางหนึ่งสู่การเป็น “คนพุทธ”

     สำหรับเมืองไทยเรา  มันอาจจะไม่ง่ายนักที่จะแยกแยะ เพราะเราให้ความสำคัญกับ “ความเชื่อ” มากกว่า “ความจริง”  บ้านเมืองเราผูกติดกับ “ความศรัทธา” มากกว่า “ปัญญา”  และนับวัน เรายิ่งส่งเสริม สนับสนุนความเชื่อผิดๆ ให้ฝังรากยึดแน่นลงไปในพิธีกรรมที่เหล่าเกจิอาจารย์ดังทั้งหลาย คิดค้นขึ้นมา  หลายสิ่งที่พุทธองค์ทรงหลีกเลี่ยงก็ถูกแอบอ้างโดยเหล่าเกจิว่าเป็น “พุทธมนต์” เป็น “พุทธาภิเษก” เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ของพระพุทธเจ้าบ้าง  นี่คืออีกภาพหนึ่งของสังคมไทย ที่เราบอกคนอื่นว่าเป็น “คนพุทธ” เช่นกัน…สวัสดี


 
อย่าบอกใครว่าเราคือชาวพุทธ  หากแม้แต่ศีล ๕ ยังถือกันไม่ได้

 

นี่ คือ “คำ” ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง                  วรรณพุทธ์  เพียง “คำ” คำหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น