วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ทักษิณ

     คำ คำนี้ หลายคนคงรู้จักดี โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

     คำว่า ทักษิณ
          หลายคนได้ยินก็นึกโกรธแค้น 
          หลายคนได้ยินก็นึกชื่นชม 
     
     แต่จะอย่างไรก็แล้วแต่ คำว่า ทักษิณ ก็เป็นคำ (คน) ธรรมดา ๆ คำ (คน) หนึ่ง เพียงแต่ขึ้นกับว่าเราให้ความสำคัญกับ คำ(คน) คำ(คน)นี้แบบไหน?
          “ทักษิณ แปลว่า ขวา หรือ ทิศใต้ ซึ่งมันก็ชัดในตัวเอง คือต้องมีการเทียบกับจุดอ้างอิงหนึ่ง หรือสิ่งหนึ่ง มันถึงจะมี ทักษิณ หรือมี ขวา หรือมี ทิศใต้
            ทักษิณ เป็น ทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศหนึ่งใน 8 ทิศ ที่คนไทยเราใช้กันมาเพื่อบ่งบอกตำแหน่งหรือทิศทางในการเดินทาง หรือเปลี่ยนตำแหน่ง

     ผู้เขียนเพียงแต่จะชี้ว่า อย่าให้คำว่า ทักษิณ คำเดียวมามีอิทธิพลเหนือจิตใจเรา ทำให้โกรธแค้น ชื่นชมหดหู่ หลงรัก เดือดพล่าน จนขาดสติ เกิดความรุนแรง ขาดความรัก ความสามัคคี สูญเสียรอยยิ้มแห่งสยามที่คนเรามีให้กันมายาวไม่ว่าจุดใด สถานที่ใด ทิศไหน หรือภาคใดของประเทศ ต้องสิ้นสุดลง เพียงเวลาไม่กี่ปีที่คำนี้เด่นชัดขึ้นมา ปล่อยให้มันเป็นเพียง คำคำหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนไปเมื่อเราได้เดินทางจากจุดอ้างอิงมายังจุดที่เรียกว่า ทักษิณแล้ว  ซึ่ง ทิศใต้ นี้ก็จะกลายเป็นจุดอ้างอิงใหม่

     เมื่อเราเปลี่ยนตำแหน่งหรือจุดอ้างอิงมาแล้ว  หลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไปตามกฎของธรรมชาติ

     แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปนั้นก็เพื่อให้เราได้ค้นพบสิ่งที่มีคุณค่ากว่าเสมอ ขึ้นกับว่าเราจะมองเห็นหรือไม่ 
     เราจะมองที่ทิศอื่น มอง ทักษิณ หรือมอง ด้านขวา หรือจะมองที่ จุดอ้างอิงที่เราอยู่ ก็ควรมองอย่างถูกต้อง มองให้เห็นภาพรวม มองจุดให้ขยายใหญ่ขึ้นเป็นวง เป็นวงกลม 
          แล้วจะพบเองว่า ไม่มี "           " อีกต่อไป



อุดร หรดี อีสาน บูรพา อาคเนย์ ประจิม พายัพ ทักษิณ แล้วจะไปทิศทางไหนดี




นี่ คือ คำ ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง                  วรรณพุทธ์  เพียง คำ คำหนึ่ง

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

หวย

     รางวัลเลขท้าย 2 ตัว ประจำงวดวันนี้ เดือนที่แล้ว ปีหน้า เลขที่ออก คือ 00
    “00 เขียนว่า ศูนย์ศูนย์  อ่านออกเสียงว่า สูนสูน พ้องเสียงว่า สูญสูญ

     ผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยซื้อ  เหตุผลง่าย ๆ  คือ เสี่ยงโชคเอาสนุก ๆ   แต่พอวันหวยออก ก็แอบมีลุ้นกับเค้าเหมือนกัน และทุกครั้งที่ลุ้นก็มักถูก(กินเสมอ)  แต่ปัจจุบันก็มีซื้อนาน ๆ แล้วก็นาน ๆ ครั้ง  ถ้าจำไม่ผิด 3 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ซื้อเลย

     มีบ้างที่เอาตัวเลขในฝันมาซื้อ ซึ่งนานมาก กว่าที่จะฝันเป็นเลขสักตัวหนึ่ง และพอตื่นก็มักจะจำตัวสุดท้ายไม่ได้ และก็ไม่ยอมซื้อจนกว่าวันรุ่งขึ้นหวยจะออก สุดท้ายก็หาเลขที่จะซื้อไม่ได้หรือไม่มีขาย หรือไม่ได้ซื้อ  ก็ไม่รู้นี่ว่าหวยจะออกเลขอะไร หากเป็นเหตุผลแล้ว มันก็ไม่เกี่ยวกับตัวเลขในฝันเลย

     หลายคนคงเคยบอกว่า เสียดายที่ไม่ได้ซื้อทั้ง ๆ ที่มีลางสังหรณ์ อาจฝันถึง อาจเพราะรถที่ขับเฉี่ยวชน อาจเพราะป้ายแดง อาจเพราะเป็นวันที่แฟนทิ้ง และหลายคนคงเคยบอกว่า เสียดายที่ซื้อ น่าจะสลับหน้าหลัง น่าเป็นตอง น่าจะอะไรสารพัด สุดท้ายเหมือนกันคือ เสียเงิน และเสียมากกว่าตัวเลข 40 บาทด้วยซ้ำ
     “หวย หรือภาษาบ้าน ๆ ว่า เบอร์ ภาษาทางการว่า สลากกินแบ่งรัฐบาล ชื่อมันก็บอกในตัวอยู่แล้วว่า สลากกิน แล้วก็ แบ่งรัฐบาล ส่วนคนซื้อก็ ถูกกินเงิน แล้ว เงินเข้ารัฐบาล  หากคิดแบบเล่นคำ คือ 
          “หวย มาจาก ห. หายนะ ว.วอดวาย ย.ย่อยยับ นึกเป็นภาพแล้ว..เฮ้อ...

     ความเป็นจริงนั้น โอกาสที่จะถูกรางวัลที่ 1 นั้น น้อยมากเหมือนที่ทราบคือ 1 ในล้าน แต่ทำไมคนเราจึงชอบซื้อหวยกันนัก  บางคนบอกว่าเป็นการลงทุน อย่างนี้คงไม่ใช่  เพราะการลงทุนนั้น 
          ๑.เงินต้นต้องไม่สูญหาย 
          ๒.มีผลตอบแทนที่เหมาะสม 
     แต่หวย คือ การพนัน (ที่ถูกกฎหมาย)

     มาลองคิดดูแบบการลงทุนว่า เงิน 1 บาทที่ซื้อหวย เพื่อลุ้น"เลขท้าย 2 ตัว" 
          ซึ่งโอกาสถูกเพียง 1/100 จะได้รับรางวัล 70 บาท  
          และโอกาสผิดถึง 99/100 จะไม่ได้เงินคืนเลย 
     ดังนั้นผลตอบแทนที่ได้รับทุกครั้ง หากเราจ่ายเงิน 1 บาทออกไป คือ 

{( 70 X 1/100) + ( 0 X 99/100)} =  0.70  บาท หรือ 70 สตางค์

     มองเป็นภาพว่า เราเอาเงิน 40 บาทให้กับกองสลากแลกกับกระดาษที่มีตัวเลขอยู่ จากนั้นกองสลากเอาไปหักค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ แล้วก็คืนให้เรา  28 บาท นี่คือคิดแบบความน่าจะเป็นและผลตอบแทน 
     แต่ในความเป็นจริง กองสลากไม่คืนเลยสักบาทเพราะว่าแบ่งให้รัฐไปแล้ว...

     มามองที่ตัวของ หวยในแง่กฎหมาย ถือว่า ถูกต้อง ในแง่ศีลธรรมอันดีของทุกศาสนา ถือว่า เป็นการพนัน
     มองในแง่คุณค่าหรือประโยชน์ของมัน ซึ่งบางคนบอกว่า เงินที่ได้จากหวย ก็เอาไปช่วยรัฐ ช่วยเหลือผู้ด้วยโอกาส เป็นการช่วยเหลือสังคม คนขายหวยก็มีงานทำ เป็นการกระจายรายได้

     เรามามองกันใหม่ได้ไหม?? 
     จากผล คือ ผู้ด้อยโอกาสได้รับความช่วยเหลือ มาจากเหตุอะไรได้บ้าง?
     คำตอบ คือ มีวิธีการที่ดีมากมาย ลองคิดดูสิครับ...

     เช่นกัน จากผล คือ คนขายหวยมีงานทำ มาจากเหตุอะไรบ้าง?
     หาก เราตัดคำว่า หวย ออก และใส่อย่างอื่นเข้าไป เช่น ข้าวแกง สินค้า OTOP” เป็นต้น คนก็มีงานทำเหมือนกันและถูกต้องเหมาะสม

     ส่วนในแง่โทษนั้น ไม่ต้องพูดถึง แต่เอาเถอะ ขอสักหน่อย 
          อย่างแรก เสียเงินแน่นอน และมีบางอย่างที่ไม่ใช่ผลของการซื้อหวย แต่มีความเกี่ยวเนื่องกันทางด้านเหตุ คือ ความงมงาย การขูด ลูบ เลีย หาเลขเด็ดจากสิ่งต่าง ๆ การขอเลขจากอาจารย์คนโน้นที จากหลวงพ่อคนนั้นที แล้วก็บอกคนทั่วโลกว่า บ้านเมืองเราเป็นเมืองพุทธ มันเหมาะหรือครับ??

     เราต้องสามารถแยกประเด็นให้ออกได้จริง ๆ  ที่บางคนกล่าว มันเป็นเหตุเป็นผลกันหรือไม่ 
     หรือว่ามันเป็นเงื่อนไขเพื่อสนองความต้องการบางอย่าง กิเลสที่แอบแฝงอยู่ในรูปของคุณค่า หรือ คุณค่าเทียม (ผู้เขียนไม่รู้ว่าจะใช้คำว่าอะไรที่เหมาะสม เลยขอใช้คำว่า คุณค่าเทียม)
     ในความคิดของผู้เขียน รัฐบาลไหนที่ส่งเสริมหรือสนับสนุน หวย หรือบางคนอาจเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น ผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลหรือนักการเมืองคนนั้นกำลังทำลายประเทศชาติ ทำให้คนในประเทศหลงผิด จนอาจเห็นเงินสำคัญกว่า ศีลธรรม สุดท้ายประเทศก็ค่อย ๆ ล่มจมอย่างช้า ๆ 

     ก่อนท้ายสุดนี้ ผู้เขียนไม่ได้ห้ามเรื่องซื้อหวย แต่อยากชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าอะไร ควรใช้เหตุผลในการซื้อ ไม่ควรงมงาย หรือแม้แต่ตอนจะซื้อหวย ก็อย่าให้ความโลภมาครอบงำจนเสียเงินเป็นร้อยเป็นพัน หากแม้ซื้อไปแล้วก็อย่าไปพะวงหรือห่วงรางวัล ทำเป็นลืมไปซะ เมื่อถึงวันหวยออกหรือออกไปแล้วเป็นสัปดาห์ค่อยมาดูมาตรวจ และระวังกิเลสมันจะเข้ามาตอนนี้แหละตอนที่เราลุ้นกันตัวโก่ง

     สุดท้าย อยากฝากตัวเลข 960 (อ่านว่าเกือบพันบาท) ไว้  ซึ่งไม่ใช่เลขเด็ด แต่มันเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำหากเราซื้อสลากกินแบ่ง (แบบถูกกฎหมาย) ทุกงวดใน 1 ปี



คำว่า หวย สะกดว่า หายนะ วอดวาย ย่อยยับ เมื่อเงินนั้นถูกกิเลสกินแบ่งไป



นี่ คือ คำ ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง             วรรณพุทธ์  เพียง คำ คำหนึ่ง

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กลัว และ กล้า

คำสองคำที่เขียนคล้ายกัน และมีความหมายตรงข้ามกันในตัวของมันเอง

     “กลัว เป็น คำที่ บ่งบอก สภาพหรือความรู้สึกในแง่ที่เป็นลบต่อสิ่งนั้น
     “กล้า นั้น บ่งบอกในแง่บวกต่อสิ่งนั้น

     บทความนี้ เป็นแง่มุมที่ผู้เขียน มีความคิดส่วนหนึ่งที่แว่บขึ้นมาสมัยยังเป็นหนุ่มๆ
     สมัยนั้น ผู้เขียนได้เล่าให้พี่บางคนทราบเกี่ยวกับ คำสองคำนี้ เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นในเครือข่ายและเป็นแรงใจหรือแรงกระตุ้นในการทำงาน ผู้เขียนมองว่าเป็นแง่คิดที่ดี จึงนำมาเรียบเรียงที่นี่..

     คำว่า กลัว และ กล้า มี ตัวอักษร สองตัวที่เหมือนกัน ได้แก่

     อักษร ก.ไก่ ผู้เขียนเปรียบเป็น "กร" หรือแปลว่า "มือ" จะใช้ว่า "กระทำ" ก็ได้  คนเรามีมือมีเท้าเหมือนกัน  หรือแม้กระทั่งคนพิการที่ไม่มีมือเท้า  ก็มี "กร กระทำ" ได้เช่นกัน แต่ทุกคนไม่ว่าจะทำอะไร  ล้วนต้อง ลงมือทำ

     อักษรต่อไป คือ ล.ลิง ในความหมายของผู้เขียน มันคือประสบการณ์ที่แต่ละคนผ่านมา อยู่ภายในตัวตนของเค้า ซึ่งอยู่ตรงกลางของคำ ว่า กลัว และ กล้า เพียงแต่ทั้งสองคำ เป็น ลิงที่ต่างกัน
          ล.ลิง ของกลัว  มาจากสภาพๆ หนึ่ง คือ ล้ม หรือบางครั้งบางเวลาอาจเป็น ละ หรือ เลิก
          ล.ลิง ของกล้า  มาจากอีกสภาพ คือ ลุก” "ลุย"
     หลายคนต่าง ล้ม และ ลุก ผ่านประสบการณ์ต่างๆ กันมาไม่เหมือนกัน คงเข้าใจสภาพนี้ดี

     ถัดมาเป็น สระ คือ สระอัว อัว ของ กลัว ผมขอแยกเป็น ไม้หันอากาศ แล้วกัน เพื่อใช้ในการเทียบเคียงกับวรรณยุกต์โท ของ กล้า มันเปรียบได้กับส่วนของหัว หรือสมองนั่นเอง
          ไม้หันอากาศ หัวของมัน หรือสมอง มีสภาพ นอน ไม่ทำงาน หลับหรือ ไม่ใช้ความคิด
          ไม้โท เห็นหัวของมันไหม? มันตั้งอยู่น่ะ ยืน ทำงาน หรือ ใช้ความคิด นั่นเอง

     สุดท้าย เป็นส่วนที่สำคัญไม่น้อย ซึ่งมันอยู่หลังสุด หลบอยู่ภายใน คือ ส่วนหนึ่งของสระอัว ที่ผมแยกออกมา กลายเป็น ของ กลัว  และ สระอา ของ กล้า   
     ทั้งสองอักขระ เขียนต่างกันตรงที่ม้วนหัวสระอาให้กลมจนกลายเป็น ว.แหวน นั่นเอง ในความคิดของผม ก็คือส่วนของจิตใจ
          จิตใจที่ปกปิดจนม้วนกลม กลายเป็น วนเวียนอยู่ภายในกับสิ่งที่ร้าย ที่เศร้าหมอง        หรือจะบอกว่าปิดกั้นสิ่งต่างๆ ที่ดี  จนทำให้เกิดเป็น ความกลัว ขึ้นมานั่นเอง
          ส่วน   ก็เปรียบกับจิตใจที่เปิดเผย ยอมรับสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือร้ายเพียงใด  เมื่อ มี มาปิดท้ายหรืออยู่ภายใน ความกล้า จึงเกิดขึ้น


     ก่อนจบนี้ ผมอยากบอกว่า ทั้ง กลัว และ กล้า ล้วนมีคุณค่าหรือประโยชน์ อยู่ที่เราจะใช้มันอย่างไร เพราะมันก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง



จงกลัวในการทำชั่ว และ จงกล้าในการทำดี




นี่ คือ คำ ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง                วรรณพุทธ์  เพียง คำ คำหนึ่ง

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คนพุทธ

     เรามักบอกกับชาวโลกว่า เราเป็น “ชาวพุทธ”  เรามีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เราคือ พุทธศาสนิกชน เราเรียกตนเองว่า “คนพุทธ” เรียกคนนับถือศาสนาคริสต์ว่า ชาวคริสต์ หรือ คนคริสต์  เรียกคนนับถือศาสนาอิสลามว่า “แขก” …

บทความนี้ ขอใช้คำว่า “คนพุทธ” แทนคำว่า “ชาวพุทธ” เพื่อให้คล้องกับหมวดหมู่  คือ เรื่องของ “คน” เรา เขา เธอ  เท่านั้น

     สำหรับเมืองไทยเรา คนที่มีพ่อแม่นับถือศาสนาพุทธ  บุตรที่เกิดมามักจะต้อง นับถือศาสนาพุทธ ตามผู้เป็นพ่อแม่  ถึงแม้ว่าตามกฎหมายจะให้สิทธิเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้  แต่เด็กทารกแรกเกิดจะไปเลือกอะไรได้  ทำได้เพียง “แอ้..แอ้..งอแง” เท่านั้น

เมื่อโตขึ้น เราจึงเป็น “คนพุทธ” ไปโดยปริยาย  โดยที่บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “พุทธ” แปลว่าอะไร?

     มีคนบอกว่า ความเป็นพุทธ นั้นมีอยู่ในทุกคน ตั้งแต่แรกเกิด  มันมีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเกิดมาในครอบครัวของผู้ที่นับถือศาสนาหรือลัทธิความเชื่อใดก็ตาม...เพราะ

 “พุทธะ” ไม่มี “ศาสนา” 
           ไม่ใช่ “ลัทธิความเชื่อ”
           เป็นสิ่งที่เรียกว่า  “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”
           คนทุกคนมีโอกาสที่จะเข้าถึง “พุทธะ” ได้เหมือนกันทุกคน

     หากข้อความข้างต้น เป็นความจริง นั่นแสดงว่า การเข้าถึง “พุทธะ” ที่มีอยู่แล้วในแต่ละคน ก็คือ การเข้าไปรู้จักตนเอง  เข้าไปศึกษาภายในตนเอง  เข้าไปทำให้ “พุทธะ” ที่ถูกปกคลุมอยู่ด้วยม่านหมอกของกิเลส  เปิดเผยออกมา ส่องสว่างนำทางชีวิต  ให้รู้จักความจริง ตื่นจากการหลับใหล เบิกบานด้วยธรรมะ…

     ดังนั้น ไม่ว่าใคร ก็เป็น "คนพุทธ" ได้  หากเขาเหล่านั้น ได้พยายามทำความเข้าใจ ศึกษา และลงมือปฏิบัติ เพื่อการเข้าถึง “พุทธะ”  ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะถูกเรียกขานจากคนอื่นว่า แขก, ฮินดู, ฝรั่ง  หรือถูกเรียกขานตามชาติกำเนิด, ที่เกิด, ผิวพรรณ  ก็ไม่สำคัญ เพราะเขาคือ "คนพุทธ" ที่แท้จริง

     ไม่สำคัญเลย ที่จะต้องเกิดประเทศไทย หรือ พม่า หรือ ลาว หรือ จีน หรือ ทิเบต หรือ ภูฐาน
     ไม่จำเป็นเลย ที่จะต้องเปลี่ยนศาสนาที่ระบุตามบัตรหรือเอกสาร เพื่อบอกว่า เราคือ “คนพุทธ”

     เพียงแต่เบื้องต้น เราต้องพิจารณา แยกแยะให้ออกว่า สิ่งใดเล่า คือ สิ่งที่พุทธองค์ทรงสอน, สิ่งใดเล่าคือสิ่งที่พุทธองค์ทรงให้เราปฏิบัติ, สิ่งใดเล่าคือแก่นของธรรมะ, สิ่งใดเล่าคือธรรมะที่แท้จริง คือ ความจริงของธรรมชาติ  ซึ่งนี่จะเป็นหนทางหนึ่งสู่การเป็น “คนพุทธ”

     สำหรับเมืองไทยเรา  มันอาจจะไม่ง่ายนักที่จะแยกแยะ เพราะเราให้ความสำคัญกับ “ความเชื่อ” มากกว่า “ความจริง”  บ้านเมืองเราผูกติดกับ “ความศรัทธา” มากกว่า “ปัญญา”  และนับวัน เรายิ่งส่งเสริม สนับสนุนความเชื่อผิดๆ ให้ฝังรากยึดแน่นลงไปในพิธีกรรมที่เหล่าเกจิอาจารย์ดังทั้งหลาย คิดค้นขึ้นมา  หลายสิ่งที่พุทธองค์ทรงหลีกเลี่ยงก็ถูกแอบอ้างโดยเหล่าเกจิว่าเป็น “พุทธมนต์” เป็น “พุทธาภิเษก” เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ของพระพุทธเจ้าบ้าง  นี่คืออีกภาพหนึ่งของสังคมไทย ที่เราบอกคนอื่นว่าเป็น “คนพุทธ” เช่นกัน…สวัสดี


 
อย่าบอกใครว่าเราคือชาวพุทธ  หากแม้แต่ศีล ๕ ยังถือกันไม่ได้

 

นี่ คือ “คำ” ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง                  วรรณพุทธ์  เพียง “คำ” คำหนึ่ง

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ต้นหญ้า (๑)


ท่ามกลางความเงียบสงบของสวนป่า...

เสียงสายลมที่พัดโบกโบยผ่านยอดไม้...
สายฝนที่โปรยปรายสู่พื้นดิน...ไม่ขาดสายตลอดทั้งวัน

จิตใจที่ว่างเปล่า ไม่คิด ไม่รู้สึกอะไร ภายใต้ชายคาศาลาหนึ่ง
มองดูพื้นดินที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำฝน..
ยอดหญ้าชูใบเด่นสง่า ชี้ขึ้นสู่ฟากฟ้า..

และแล้ว..
รอยเท้าของคนๆ หนึ่งที่เดินเหยียบย่ำลงบนใบหญ้าผ่านไป..

ความรู้สึกอย่างหนึ่งก็โผล่งขึ้นมาในจิตใจ..
รู้สึกสั่นไปทั้งตัว
ราวกับความรู้สึกสดชื่น สบาย และสงบ เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

..เป็นความปิติยิ่ง..

สิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน..
สิ่งที่เคยอ่าน เคยฟังมา..
ความคิดถูกจัดเรียงขึ้นมาใหม่...


ขอบคุณ



  "หญ้าที่งดงาม..."



นี่ คือ คำ ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง            วรรณพุทธ์  เพียง คำ คำหนึ่ง

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คนพูด

     ตลอดการเดินทาง ไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ เราก็จะได้เห็นคนพูดคุยกันอยู่เสมอ จนเมื่อเรา “หลับตา” นั่นแหละ เราจึงไม่ได้เห็น “คนพูด” อีก และต่อไปนี้คือ บทความของคน “กำลังพูด” คนหนึ่ง

     เคยสังเกตไหมว่า รอบๆ บ้านของคุณตอนนี้ เทียบกับเมื่อ 5 ปีก่อน และย้อนไป 10 ปีที่แล้ว ต่างจากปัจจุบันอย่างไร แน่นอนว่ามันต้องต่าง มันเรื่องธรรมดา และที่มีเพิ่มมากขึ้น คือ “คนพูด” กันมากขึ้น อย่างที่เห็นและได้ยินกัน ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง

     หลายคนเข้าใจว่า “คนพูด” หมายถึง คนที่พูดคุยกัน บ้างพูดคนเดียว บ้างคุยกันเป็นกลุ่ม เราพูดคุยกันมากขึ้น พูดกันด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย (หรือตามสมัย) ยิ่งใช้ ยิ่งเข้าใจกันมากขึ้น (ตามโฆษณา) จริงหรือ?  การคิดและเข้าใจอย่างนี้ก็ใช่อย่างหนึ่ง…

     เราสามารถมองเห็น “คนพูด” ได้ชัดเจนและมากกว่าได้ตลอด 2 ข้างทาง ไม่ว่าจะบนรถ, ท้ายรถ, เก้าอี้, เสาไฟฟ้า, เกาะกลางถนน, กระจก, ประตูหรือแม้แต่ขอบกางเกงใน  นั่นก็คือ ป้ายร้าน, ป้ายโฆษณาต่างๆ, ข้อความ, สติ๊กเกอร์, ใบปลิว, BLOG, Social Media และอื่นๆ สุดแต่เราจะเรียกชื่อ  สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่แสดงว่า “คนพูด” กันมากขึ้น พูดตลอดเวลา และพูดคนเดียว โดยไม่สนใจฟังใครทั้งสิ้น บางครั้งพูดแบบคนหน้าใหญ่ จนบดบังความสวยงามของดวงอาทิตย์และ “ท้องฟ้า”  จนกว่าเราจะหลับตาลงนั่นแหละ  จึงจะหยุดพูด  และก็มีความพยายามยกระดับคนชอบพูดเหล่านี้ว่า “แบรนด์”  และทำให้มีราคาขึ้นมา

     การเป็น “คนพูด” มากแบบย่อหน้าก่อนนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณภาพ มีคุณค่าต่อตนเองและสังคมจริงหรือ?  เรากำลังเชื่อว่าตัวอักษรไม่เกิน 10 ตัว อ่านออกเสียงได้ไม่น่าเกิน 5 พยางค์ มีราคานับล้าน…

     ย้อนกลับไปข้างต้น โลกอินเตอร์เน็ต ก็แสดงให้เห็นชัดว่า เราพูดกันมากขึ้น เราสามารถพูดคุยกันข้ามซีกโลกได้เพียงปลายนิ้ว  บางคนก็คุยกันแบบนี้ แม้ห่างกันพียงหนึ่งช่วงแขน

     ในยุคนี้ เราจึงพบเห็น “คนพูด” โดยไม่ใช้ปาก…

     นี่คงเป็นเรื่องดี ที่โลกเราจะสงบลง เกิดสันตินานขึ้น ไม่ทะเลาะกันเสียงดังให้ชาวบ้านเขารำคาญ  เข้าใจกันมากขึ้นด้วยปลายนิ้ว…จริงหรือ?

     ท้ายนี้ ผู้เขียน ก็เป็น “คนพูด” คนหนึ่งที่สำนึกได้และพยายามพูดให้น้อยลง  และขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกครั้งที่ท่านอ่าน และจะเป็นการดีหากท่านไม่เพียงแต่อ่าน…สวัสดี 


โบราณว่า…ปากเป็นเอก


ปัจจุบันว่า…นิ้วเป็นเหตุ (ไม่ใช่สิ ปลายนิ้วเป็นปลายเหตุ ต่างหาก)




นี่ คือ “คำ” ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง                    วรรณพุทธ์  เพียง “คำ” คำหนึ่ง

พวกเดียวกัน (ใจพาไป)




                            

วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ในกรอบ (ใจพาไป)







ภาพกรอบ 1 ภาพ

มองดู

เห็นมั๊ย... นอกกรอบ



แล้วแต่ใจจะพาไป

              หมวดนี้ เป็นแนวการเขียนที่ผู้เขียน อยากทดลองเขียน โดยใช้ “คำ” “กลุ่มคำ” “วลี” หรือ “สำนวน”    เพื่อสื่อและต้องการรับรู้มุมมอง ความคิดเห็นของท่านผู้อ่าน…

โดยเปิดให้ท่านผู้อ่านลองตีความ หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลของคำข้างต้นตามแต่ใจจะพาไป…

ซึ่งสิ่งเหล่านี้   ไม่อาจตัดสินได้ว่า ความคิดปรุงแต่งของใคร  ถูก ผิด เท็จ จริง หรือ เหมาะสม เพียงไร…

              ก็เพราะ  แม้แต่ “ความคิด” ที่เราปรุงแต่งขึ้นนี้ หรือที่ทางธรรมเรียกว่า “สังขาร” ก็อยู่ในกฎธรรมชาติ นั่นคือ

                   มันไม่แน่นอน   นั่นคือ   อนิจจัง

                   มันย่อมเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม   นั่นคือ   ทุกข์

                   และมันก็ไม่ใช่ของเรา   นั่นคือ   อนัตตา

           
ดังนั้น   ไม่ว่าใคร จะแต่งเติม และแสดงความคิดเห็นอย่างไร มันก็  ”แล้วแต่ใจจะพาไป”

สุดท้าย  ขอขอบคุณทุกความคิดเห็น ทั้ง ติ ชม ก่นด่า สร้างสรรค์ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างน้อยที่สุด ในเจตนาที่แฝงอยู่ของผู้เขียน คือ เพื่อให้สะกิดต่อม สะกิดใจ   แล้วให้ “สติ”  พาใจกลับมา

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

tenkafubu blog move to wannabudh

           หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงเสมอ...

           tenkafubu blog ขอแจ้งย้ายที่อยู่เป็น wannabudh แทน

           เมื่อผมลองกลับไปอ่าน บทความแรกของผู้เขียน "วรรณพุทธ์"  ที่ post ลงใน mblog.manager.co.th  และที่  tenkafubu.exteen.com   จนบัดนี้ได้ย้ายมาเขียนลงที่นี่
ก็ด้วยเหตุปัจจัยบางอย่าง

มีช่วงหนึ่งที่ ผู้เขียนไม่สามารถเข้าถึง mblog.manager.co.th ได้ ทำให้มีบทความที่ค้างอยู่และยังไม่ได้นำเสนอ  ประกอบกับความสะดวกในการใช้งานของ blog ดังกล่าวในปัจจุบัน

อีกทั้งบทความที่เขียนเป็น บทความที่ไม่มีภาพประกอบ หรือลูกเล่นอะไรมากนัก 

จึงส่งผลให้ผู้เขียนเลือกที่จะย้ายมาเขียนที่ดี  ซึ่งคิดว่าน่าจะมีความง่าย และสะดวกในการใช้งานกว่า

ดังนั้น เมื่อมาเริ่มที่ใหม่ ก็ต้องมีบทความใหม่ออกมา นั่นคือสิ่งที่บางคนอาจคิด...

แต่ก็ขอนำเอาบทความเก่าและใหม่ ทยอยออกมา เพื่อให้ผู้อ่านคุ้นชินกับหน้าต่างแบบนี้   รวมทั้งตัวผู้เขียนด้วย

และผู้เขียน จะใช้ นามแฝง "วรรณพุทธ์" แทน tenkafubu ไปตลอด เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการสืบค้นครับ

ขอบคุณครับ ที่ติดตามอ่าน

วรรณพุทธ์

Wannabudh