วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

ยกยอ & ยกย่อง

                หลายคนคงชอบที่มีคนอื่น หรือเพื่อน หรือคนรัก มาชื่นชมยินดีกับตัวเรา ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม เมื่อคนเหล่านี้มาแสดงความยินดีกับเรา เรารู้สึกอย่างไร? ใจพองโต หรือ หน้าบาน หรือกดข่มความดีใจเอาไว้ สิ่งที่คนเหล่านั้นทำเป็นการ ยกยอ หรือ ยกย่อง

                สองคำนี้ มีความหมายคล้ายกัน ดังนี้ครับ (อ้างอิง จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒)

                ยกยอ แปลว่า ยกย่อง, สรรเสริญ, พูดส่งเสริมให้ดีขึ้น; ยกย่องเกินความจริง

                ยกย่อง แปลว่า เชิดชู    (ส่วน เชิดชู แปลว่า ยกย่อง ครับ)

                สรรเสริญ แปลว่า กล่าวคำยกย่อง, กล่าวคำชมด้วยความนิยมพอใจ

                ขอละคำว่า สรรเสริญ ไว้ เพื่อต้องการให้เข้ากับหัวข้อที่ตั้งไว้ คือ ยกยอ & ยกย่อง

                คำว่า ยกยอ และ ยกย่อง มีคำที่เหมือนกันคือ ยก ให้ความหมายและภาพว่า เอา(สิ่ง)นั้นขึ้นให้สูงกว่าเดิม ส่วนคำที่ต่างกันคือ ยอ และ ย่อง

                ครั้งแรกที่รู้สึกถึงความต่างของคำนี้ คือ ยอ ที่พบเห็นอีกครั้งตอนไปเที่ยวนอกตัวเมือง จากสมัยเด็ก ๆ ที่เห็นอยู่บ่อย ยอ คือ เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นตาข่ายอาจทำด้วยเชือก หรือ สายป่าน มีคันไว้สำหรับยกซึ่งทำจากไม้ไผ่ โดยมีคานโยงติดกัน การใช้ ยอ เพื่อจับปลา คือ กดยอลงไปในน้ำให้ตาข่ายจมลงในน้ำ เมื่อได้ปลามากพอก็ ยก ยอ ขึ้นจากน้ำและใช้สวิงตักปลาอีกต่อหนึ่ง การจับปลาวิธีนี้ มักใช้ในช่วงน้ำหลาก ซึ่งจะมีปลาว่ายมาตามน้ำจำนวนมากในช่วงที่น้ำหลากใหม่ แต่ช่วงปกติจะต้องใช้เครื่องมือชนิดอื่น

                ส่วน ย่อง นั้น ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้นต่อมาจาก ยอ อีกทอดหนึ่ง ส่วนใหญ่ ย่อง มักนึกถึง โจร หรือ ขโมย ซึ่งอาจเป็นพวก ย่องเบา  คำว่า ย่อง แปลว่า เดินโดยใช้ปลายเท้าจดลงเบาๆ หรืออาจแปลว่า ที่ลอยเหนือขึ้นมา

                อ่านมาถึงนี้แล้ว คงจะเห็นภาพความแตกต่างของ ยกยอ กับ ยกย่อง บ้างแล้ว

                ขอฉายภาพอีกครั้ง คือ ยกยอ ก็เหมือนกับ พูดให้ดีขึ้นโดยอาจเกินจริง ซึ่งอาจมีผลประโยชน์แอบแฝงเหมือน ยอที่จับปลา คือ เมื่อยังไม่ได้ปลาก็กดลงไว้ในน้ำ แต่เมื่อได้ปลา หรือได้ (ผล)ประโยชน์ ก็ยกขึ้น จากนั้น เมื่อหมดประโยชน์ก็กดลงไว้ในน้ำเหมือนเดิม และต้องใช้ในช่วงที่น้ำหลาก

                ส่วน ยกย่อง ก็เหมือนกับ พูดให้ดีขึ้นตามเป็นจริง หรือ ยก(สิ่ง)นั้นขึ้นมาเบาๆ ราวกับลอยขึ้นมา และต้องกระทำอย่างระมัดระวัง (เพราะไม่อย่างนั้น อาจโดนจับได้ว่า ย่องเบา)

                แต่ทั้งสอง ยก นี้ ต่างก็เลื่อน(ใจ)ขึ้นจากตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งปกติของมัน

                ดังนั้น เราก็ต้องพิจารณา สิ่งที่คนอื่นพูดชื่นชมเราให้ดีว่าเป็นอย่างไร

สิ่งสำคัญไม่ใช่ที่คนอื่นชื่นชมหรือมองเรา หากแต่เรามองตัวเราเองว่าเป็นอย่างไร เราสามารถวางเฉยต่อสิ่งที่ได้ยินหรือไม่ ถ้าทำได้อย่างอุเบกขานับเป็นสิ่งที่วิเศษเลยทีเดียว



มุทิตา...ร่วมยินดีในลาภยศสรรเสริญของผู้อื่น




นี่ คือ คำ ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง                  วรรณพุทธ์  เพียง คำ คำหนึ่ง

วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

ต้นหญ้า (2)

        วันก่อนไปวิ่งออกกำลังกายในรอบ 2 ปี วิ่งรอบอ่างเก็บน้ำไปได้ 2 รอบ เหนื่อยมาก...รู้สึกปวดน่อง...เลยชะลอฝีเท้าและเปลี่ยนเป็นเดินแทน..

        เดินไปพลาง หายใจไปพลางรู้สึกได้...รู้สึกถึงน้ำหนักที่ลงบนฝ่าเท้า รู้สึกถึงหัวใจที่เต้นรัว  บางช่วงความทรงจำเก่าๆ ที่ดีก็ผุดขึ้น..

อากาศยามเย็น ท้องฟ้าสีส้มคราม  เมฆสีเทาก่อตัวเหมือนฝนจะตก  แต่ก็พัดผ่านไป
         จนเดินผ่านหญ้าคาที่ขึ้นเรียงเป็นแนวข้างทาง
ไม่เคยเห็นหญ้าคาที่สวยงามแบบนี้มาก่อน  ใบหญ้าที่เขียว เอียงลู่ลม งามจับตา

จนต้องหยุดเดิน และเดินย้อนกลับมาดูอีกครั้ง
ธรรมชาติ สวยงามเช่นนี้เอง

ไม่เคยมีความรู้สึกแบบนี้มานานแล้ว..แม้จะไปเที่ยวเขา ขึ้นดอย ท่องภู ทั้งคนเดียวและกับเพื่อน

พึ่งเข้าใจคำพูดของผู้ใหญ่ที่ผมเคารพก็ครั้งนี้เอง



  "หญ้าที่งดงาม..."



นี่ คือ คำ ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง       วรรณพุทธ์  เพียง คำ คำหนึ่ง

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

พวกเดียวกัน

         รู้หรือไม่ว่า  พริกชี้ฟ้า และ พริกไทย  คือ  พืชตระกูลเดียวกัน
หลายคนตอบว่า รู้ “ก็มันพริกเหมือนกัน”
แล้วเชื่อไหมว่า มะเขือเทศ ก็ตระกูลเดียวกันด้วย...

เป็นธรรมดาที่คนเราจะสงสัยในเรื่องนี้  เพราะ มะเขือเทศ และ พริก  มีลักษณะภายนอกที่เกือบจะไม่เหมือนกันเลย รวมทั้งรสชาติที่ต่างกันคนละเรื่อง

         หากเราลองมอง พริกชี้ฟ้าที่เรียวยาวสีสวยสด  กับพริกไทยเม็ดเขียวเม็ดดำกระจ้อยร่อย จะพบว่า  แม้จะขึ้นชื่อว่า พริก และรู้ว่าตระกูลเดียวกัน  แต่ภายนอกก็ต่างกัน รสชาติที่เผ็ด ร้อน ต่างกัน

         ลองมองมะเขือเทศ และสังเกตลงไป จะพบความเหมือน
              มะเขือเทศ มีกลีบเลี้ยง 5-6 กลีบ เหมือนพริก
              เมื่อผ่าออก มีลักษณะแกน และเมล็ดเล็ก ๆ  คล้ายพริก
              ไม่ต้องกล่าวถึงลักษณะของลำต้น ที่เป็นไปตามธรรมชาติของพืชล้มลุกเช่นเดียวกันกับพริก

         การมองเพียงภายนอกเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถบ่งบอกถึงที่มา, ชาติตระกูล  หรือแม้แต่คุณค่าที่แท้จริงที่อยู่ภายใน (พริกและมะเขือเทศ เป็นอาหารที่มีวิตามินเอและซีสูง)

         การแบ่งแยก หรือจัดกลุ่มสิ่งต่าง ๆ  ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้สิ่งใดเป็นเกณฑ์หรืออ้างอิง เพราะทุกสิ่งที่เราแบ่งแยก จัดกลุ่ม เราเป็นคนกำหนดเองทั้งสิ้น  ไม่มีสิ่งใดอยู่อย่างโดด ๆ  ทุกอย่างล้วนมีที่มา มีเหตุปัจจัยประกอบกัน เชื่อมโยงเป็นสายใยต่อกัน

         ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่า พริก และมะเขือเทศ มาจากต้นกำเนิดเดียวกัน  แต่ก็มีอีกหลายสิ่งที่เรารู้.. รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไป

ส่วน สิ่งในโลกนี้ที่เราไม่รู้  เราก็ควรฝึกมอง ทั้งภายนอกและภายใน  ทั้งที่มาและเหตุปัจจัย...ให้ใจพาไป




นี่ คือ คำ ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง           วรรณพุทธ์  เพียง คำ คำหนึ่ง

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

คนเลว

มึงนี่ เลวจริง ๆ

     อ่านแล้วรู้สึกอย่างไร? 
          ดูเหมือนจะเป็นคำหยาบที่ใช้ตำหนิ (ด่าว่า) อีกคนหนึ่งว่าเป็นคนไม่ดี หรือ คนเลว ใช่ไหม?
     คนเลวเป็นยังไง? หรือว่า คนพูดเองก็เป็นคนเลว 

     อย่าหงุดหงิดไป...
     เพียง หยิบคำ ขึ้นมาให้ดูหนักเท่านั้น...

     ในภาษาไทยเรา มี คำ ที่สามารถระบุชัดได้ว่า สิ่งที่กระทำใดบ้าง ไม่ดี ไม่เหมาะสม หรือ ชั่ว หรือ เลว เพียงเราเอาคำที่แสดงสภาพเข้าไปใส่ร่วมก็ปรากฏภาพที่ชัดเจน เช่น คนเลว ตำรวจชั่ว” 
     สิ่งที่กระทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จารีต ประเพณี ศีลธรรม ศาสนา หรือ ไม่ตรงตามใจเขาต้องการ 
     
     เป็นที่แน่ชัดว่า หลายคนเคยทำสิ่งที่ไม่ดี หรือ ไม่ถูกต้องกันมามากน้อยต่างกัน สิ่งเหล่านี้ ขอเรียกว่า สิ่งที่ไม่ควร  เพื่อให้รู้สึกเบา ๆ ถึงแม้ว่าสิ่งไม่ดีบางอย่าง หลายคนมองว่า โคตรสารเลว ก็ตาม...
          แต่นั่นเองเป็นคำถามที่เกิดขึ้นมาว่า อะไรบ้างเป็นสิ่งที่ไม่ควร?  ซึ่งเมื่อคนที่ได้ทำสิ่งเหล่านี้แล้วก็จะกลายเป็น คนเลว

     ปัจจุบัน หลักใหญ่ที่คนเราใช้ตัดสินว่า คนที่ได้ทำสิ่งที่ไม่ควร เป็น "คนเลว" คือ กฎหมาย แต่ในอดีตหากมองย้อนกลับไปตามหน้าประวัติศาสตร์  หลักใหญ่ที่ตัดสิน อาจเป็น จารีตหรือขนบธรรมเนียม 
     แต่สิ่งที่คนเราอาจมองข้ามไปมากและเป็นสิ่งที่มีมาช้านาน คือ "ธรรมะ" ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินได้ถูกต้องเหมาะสมหากต้องการจะแยกว่า สิ่งที่ทำนี้ ควรหรือไม่ควร ดีหรือเลว

     "กฎหมาย"  หากพิจารณาจะพบว่า เป็นสิ่งที่คนเราที่มีตัณหาและทิฐิทั้งหลาย(มากน้อย) เป็นผู้เขียนหรือร่างขึ้น อีกทั้งการร่างกฎหมายแปรผันตามปัจจัยแวดล้อม ณ ช่วงเวลาที่ร่าง และเราเองก็ไม่อาจทราบได้ว่าผู้เขียนกฎหมายเป็น คนเลว มากน้อยเพียงใด ดังนั้น กฎหมายเพียงอย่างเดียวจึงไม่อาจตัดสินได้

     "จารีต" "ประเพณี" "ขนบธรรมเนียม" ก็เช่นเดียวกันกับ กฎหมาย หากแต่มีส่วนเพิ่มเติม คือ จารีตฯ ส่วนใหญ่เกิดจาก คติธรรม, ความเชื่อ, ความเห็นของผู้ปกครองหรือสังคม ที่เห็นว่า ดีหรือเหมาะสมในยุคสมัยนั้นหยิบยกเอามาใช้ เพื่อให้สังคมมีความสงบสุข ซึ่งบางอย่าง อาจไม่ได้ ดีหรือเลว ในตัวของมันเอง แต่หากใครทำสิ่งนั้นไปอาจกลายเป็น คนเลว ได้

     ทั้งกฎหมาย และ จารีตฯ นั้นไม่ขอยกตัวอย่าง แต่ขอให้ลองพิจารณาเอง ส่วนสุดท้าย คือ "ธรรมะ" ซึ่ง  มีความคิดเห็นว่า เหมาะสมและถูกต้อง แล้วเราใช้ธรรมะตัดสินได้อย่างไรว่า สิ่งไหนดีหรือเลว...

          คำตอบ อยู่ในใจ  สิ่งใดก็ตามที่ทำแล้ว จิตใจของคนที่ทำรู้สึก  ว่า หงุดหงิด ร้อนลน ไม่พอใจ กระวนกระวาย ฟุ้งซ่าน มึนงง สับสน พยาบาท มัวเมา หดหู่ ท้อถอย สงสัย อยากกระหาย ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่ "กิเลส" ชักนำทั้งสิ้น และสิ่งเหล่านี้นั่นเอง ที่เรียกว่า สิ่งที่ไม่ควร หากลงมือทำหรือจุดไฟแล้วอาจลุกลามจนกลายเป็น คนเลว อย่างที่คนอื่นเขาเรียกได้



ไม่มีคนเลวในโลกนี้ มีเพียงความเลวในใจคนเท่านั้น




นี่ คือ คำ ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง                  วรรณพุทธ์  เพียง คำ คำหนึ่ง

วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ผู้มีอิทธิพล

พูดถึงเรื่องนี้ก็ต้องระวังให้มากครับ..เพราะพวกเค้า คือ "ผู้มีอิทธิพล"
     บทความนี้ ไม่มีเจตนาให้ดูน่ากลัวเหมือนหัวข้อ..ลองอ่านดู

     คำว่า ผู้มีอิทธิพล อาจฟังแล้วรู้สึกเป็นลบ หรือไม่ดี หรือน่ากลัว แต่ขอปรับใหม่ให้เป็นอย่างกลาง ๆ 
          ผู้มีอิทธิพลนี้ไม่ได้หมายถึง คนที่เป็นมาเฟีย คนที่เป็นนักเลงมีพรรคพวกมาก

     แต่ขอหมายถึง สิ่งที่มีอำนาจหรือมีส่วนในการดลใจ หรือกดดัน หรือผลักดัน หรือมีอิทธิพลเหนือจิตใจเรานั่นเอง ซึ่งไม่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นตัวบุคคล อาจเป็นหนังสือสักเล่ม หรือเหตุการณ์สักอย่าง ซึ่งส่งผลให้เรากระทำการต่าง ๆ ทั้งที่เรียกว่า ดี และ เลว
     หากพิจารณาจากความหมายที่กำหนดไว้ บางทีอาจจะใช้คำว่า ผู้เป็นแรงบันดาลใจ แต่ไม่ขอใช้คำนี้ เนื่องจาก ผู้เป็นแรงบันดาลใจ นั้นมักส่งเสริมให้เรากระทำไปในทางที่ดี หรือผลักดันจิตใจเราไปในทางที่เป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเองและสังคม

     ลองคิดดูว่า ผู้มีอิทธิพล ต่อคุณคือใคร หรืออะไร?

     ผู้มีอิทธิพลของแต่ละคน อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามแต่ช่วงเวลา ซึ่งล้วนส่งผลต่อความคิดทั้งสิ้น 
          สมัยเราเป็นเด็ก ผู้มีอิทธิพลต่อเราเป็นคุณพ่อคุณแม่ หรือคุณครู
          ต่อมาวัยรุ่น เพื่อนเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อเรา บางคนอาจเป็นดาราหรือนักร้อง ที่เรียกกันว่า idol
          วัยทำงาน อาจเป็นเจ้านาย, บริษัท หรือหุ้นส่วน
          เมื่อมีครอบครัว ภรรยาสุดหวงหรือลูกสุดที่รัก 
     ผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ส่งผลให้เราคิดและทำการต่าง ๆ แตกต่างกันไป

     คราวนี้ลองพิจารณา สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวบุคคล เช่น หนังสือ, ข่าวสาร, เหตุการณ์ เป็นต้น หนังสือหรือข่าวสารมีอิทธิพลต่อเราอย่างไร เมื่อเราอ่านหนังสือ เราก็จะซึมซับเอาความหมาย, ความรู้จากเนื้อหาที่อ่าน สมอง/จิตใจของเราก็จะหมายรู้หรือจำเอาไว้ ซึ่งโดยทั่วไปเมื่ออ่าน ใจของเราจะพยายามกำหนดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวเองโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็จะสะท้อนออกมาในรูปแบบพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น หัวเราะ, ยิ้ม หรือร้องไห้ หรืออาจจินตนาการต่อออกไปจากเนื้อหาเดิม  บางครั้งที่เนื้อหาไม่ตรงหรือเข้ากันกับใจของตัวเอง ก็จะปฏิเสธออกมา แสดงเป็นอาการทางคำพูด หรือทำการวางหนังสือลง

     เราอาจมองว่า สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด คือ ผู้มีอิทธิพล 
          แต่หากลองสังเกตให้ดี เราจะพบว่า ผู้มีอิทธิพลที่แท้จริง คือ...

     เมื่อเราพบผู้มีอิทธิพลแล้ว เราก็อาจจะทำการสอบสวน สืบสาว หรือจับกุมคุมขัง หรือปล่อยให้ลอยนวล ขึ้นอยู่กับ ผู้มีอิทธิพลเสนอผลประโยชน์แก่เราหรือไม่ อย่างไร

     ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่ ผู้มีอิทธิพลเสนอให้นั้น  เราก็ควรมองเป็นคุณประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น  จึงจะเป็นการดี
          “ผู้มีอิทธิพล ก็อาจกลายเป็น ผู้มีบารมี ในที่สุด



นี่แหละ คือ ผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐธรรมนูญ




นี่ คือ คำ ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง                  วรรณพุทธ์  เพียง คำ คำหนึ่ง

วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

บัญญัติ

     ได้มีการบัญญัติข้อบังคับของพรรคขึ้นมาใหม่โดยนายบัญญัติเป็นผู้ลงนาม รายงานจากสำนักข่าวคราวก่อนโน้น!!!!!
     ในบทความครั้งนี้ ตั้งใจให้สืบต่อจากบทความ อภิสิทธิ์ และเกี่ยวเนื่องกับบทความ ทักษิณ โดยจะชี้ให้เห็นถึง บัญญัติ

     “บัญญัติ แปลว่า การตั้งขึ้น, ข้อที่ตั้งขึ้น, ข้อบังคับ  แล้วเราตั้งอะไรขึ้นมา? เราไปบังคับอะไร?

     คำในภาษาไทย มีหลายคำ ที่ คำพูดหรือคำศัพท์ เดียวกัน แต่มีความหมายต่างกัน ทั้งที่ต่างกันเล็กน้อยจนถึงแตกต่างกันมาก หรืออาจจะมีลักษณะบางอย่างคล้ายกัน พอเทียบเคียงกันได้ก็มี เช่น คำว่า เขา ตัวอย่างคือ เขาขี่วัวที่มีเขายาวขึ้นเขาไปจับนกเขา จะเห็นว่า เขา นี้มีหลายความหมาย และหลายคนคงเข้าใจความหมายของ เขา ในประโยคได้เป็นอย่างดี

     “คำ ทุกคำ เป็นเพียง สิ่งที่คนเรา บัญญัติ หรือ ตั้งขึ้น หรือ กำหนด เพื่อใช้ในการสื่อสารสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ในโลกใบนี้และยอมรับตกลงกันเอง โดยระบุว่า สิ่งนี้ ใช้คำนี้ สิ่งนั้นใช้คำนั้น ใช้แทนภาพรวมขององค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง 
          ซึ่งเมื่อเราแยกองค์ประกอบออกจากกันแล้ว คำ ที่ใช้แทนสิ่งนั้นก็ไม่ใช่ คำ นั้นอีก
          หรือ สิ่งนั้น ก็ไม่ใช่ สิ่งนั้น อีกแล้ว
          เป็น สิ่งอื่น เป็น คำอื่น ไป
     คนเราเพียงแต่ สมมติบัญญัติ ตั้งขึ้นมาทั้งสิ้น หาใช่ความจริงไม่ คำ เพียง คำเดียว อาจสื่อถึงความรู้สึกได้หลายหลายตามแต่ ความคิดปรุงแต่งขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น นิยามคำว่า ความรัก เป็นอย่างไร
     
     เราอาจสื่อว่า สภาพนั่นแหละ หรือ สิ่งนั้นแหละ คือ ความรัก หรือใช้คำว่า ความรัก แต่มันเป็นยังไง อธิบายได้หรือไม่ 
     เพราะมันเป็น ความรู้สึก มันเป็น นามธรรม ที่คนเราเองสมมติลงบนความจริง
          โดย บัญญัติ นั้นไม่มีผลต่อสิ่งนั้นเลย ไม่สามารถบังคับมันได้เลย เว้นแต่เราจะจับจะยึดมันไว้ว่า บัญญัติ นั้นคือ สิ่งนั้น คือ สภาวะนั้น ถือว่าถูกต้อง ซึ่งมันถูกต้องตามความเป็นจริง จริงหรือไม่?
     
      สุดท้ายนี้ จะย้ำอีกครั้งว่า ทุก ๆ คำ ที่เขียน(พิมพ์) เป็นบทความ เป็น คำ ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง ซึ่งใช้ "สมมติ" หรือ บัญญัติ สิ่งนั้น ๆ หรือ สภาวะนั้น ๆ เพื่อใช้ในการสื่อสาร มีเจตนาในเชิงการแปลความหมายและเปรียบเทียบความหมายเพื่อกระตุ้น, กระตุกความคิดและเตือนทุกคนที่อ่าน รวมทั้งตนเองซึ่งจะเป็นคนแรกที่อ่าน เพื่อคุณประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ของการใช้ คำ



บัญญัติแห่งอัตตา คือ มโนภาพของตัวตนที่เป็นคราบติดมาตั้งแต่ครั้งยึดติดในตัวตน
 และเป็นภาพแห่งความหลงผิด



นี่ คือ คำ ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง                  วรรณพุทธ์  เพียง คำ คำหนึ่ง


ปล. เนื้อหาบางส่วน หยิบยกมาจากหนังสือ พุทธธรรม ที่เขียนโดย ป.อ. ปยุตฺโต

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

รากหญ้า

เฮ้อ..ทำไมหญ้ามันขึ้นรกอย่างนี้...เอาออกหน่อยดีกว่า จะถอนหรือจะตัดหญ้าดี?


     หากคุณ เลือกวิธีการตัดต้นหญ้า..   ต้นหญ้านั้นจะสั้นเตียนลง เนื่องจากใบและลำต้นถูกตัดออกไป แต่ รากหญ้า ยังฝังลึกอยู่ในดิน
     หากคุณเลือกวิธีถอน..  ไม่มีต้นหญ้าเหลืออีกรวมทั้งรากด้วย ถึงแม้ว่าบางครั้งจะยังมีรากที่ขาดและติดอยู่ในดินบ้าง แต่ต้นหญ้าต้นนั้นจะไม่งอกขึ้นมาอีก
          เว้นแต่เมล็ดของมันที่ยังฝังตัวอยู่ใต้ดิน รอวันงอกงามอีกครั้ง..ต้นหญ้าที่งดงาม
          
     ไม่ใช่นักพฤกษศาสตร์ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ใบหญ้า เพียงแต่สังเกตและมองดูมันเท่านั้น
     ต้นหญ้าที่ถูกตัดจนเตียน แม้จะเหลือลำต้นอยู่น้อยนิดแต่ก็ยังติดอยู่กับรากของมัน รากหญ้า ยังสามารถหาอาหารมาหล่อเลี้ยงให้ต้นหญ้าเติบโตและออกดอกสวยงามได้อีกครั้ง ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
     
     “รากหญ้า ในความหมาย ก็คือ ราก + หญ้า คำว่า ราก แปลว่า ส่วนของต้นไม้ ตามปรกติอยู่ในดิน มีหน้าที่ดูดอาหารเลี้ยงลำต้น,  และยังหมายถึง อาเจียน, อ้วก, สํารอกออกทางปาก ส่วน หญ้า หมายถึง ชื่อเรียกพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง
          หญ้าบางชนิดลำต้นผอมยาว แต่มีรากเล็ก ๆ  แผ่กว้างกินบริเวณมากกว่าขนาดของลำต้นหลายเท่านัก  หญ้าบางชนิดมีรากที่หยั่งลึกเป็นเมตร หรือมากถึง 3 เมตรทีเดียว  
          ส่วนหญ้าแฝก มีรากแผ่กว้างเพียง 50 ซม.รอบกอ มีรากลึกในแนวดิ่ง จึงไม่มีผลต่อพืชที่ปลูกข้างเคียง
     ทั้งหมดที่อธิบายลักษณะของราก คือทำหน้าที่ คือ หาอาหารหล่อเลี้ยงลำต้นให้อยู่รอด ให้เติบโต ให้ออกดอก แพร่ขยายสายพันธุ์ต่อไป
     
     “รากหญ้า ยังมีความหมายเชิงเปรียบเทียบอีกอย่างคือ คนในชนบท, เกษตรกร
     
      หากคิดว่า หญ้าขึ้นรก ดูไม่งามตา ลองพิจารณาให้ดีก่อน อย่าคิดทำลายหรือตัดแยกออกไป หรือ ถอนรากถอนโคน  แม้ว่าต้นหญ้าบางต้นจะใกล้ตาย หรือดูเหมือนจะตาย แต่ก็ยังมีรากอยู่ อีกทั้ง รากหญ้า นั้น หลายแห่งได้หยั่งลึกลงสู่ผืนแผ่นดินนี้ ทุกแห่งได้คลุมดินและให้ผืนดินยังคงรักษาความชุ่มชื้นไว้ได้ ให้แผ่นดินยังประโยชน์ต่อต้นหญ้าด้วยกันเองและพืชชนิดอื่นๆ ต่อไปยังสัตว์ด้วย
     
     ทุก ๆ ส่วนของต้นหญ้าล้วนทำหน้าที่ของมัน ไม่ว่าจะเป็น ราก ลำต้น ใบ ดอก ตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง ทุกส่วนล้วนมีความสำคัญ ทุกส่วนที่เรามองแยกออกจากกัน  ทุกส่วนล้วนต้องอิงอาศัยกัน  เมื่อรวมกัน เราเรียกมันว่า ต้นหญ้า” ไม่มีราก ไม่มีต้น ไม่มีใบ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับ ประเทศและก็โลกใบนี้



อย่ามองว่าสิ่งนี้  เป็นเพียง  "รากหญ้า" 




นี่ คือ คำ ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง                วรรณพุทธ์  เพียง คำ คำหนึ่ง

วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

อภิสิทธิ์


     ก่อนอื่น  ต้องขอบคุณ คุณกวนอู ที่เคยแนะนำและเสนอความคิดเห็นไว้ในบทความ “ทักษิณ” ที่ได้เผยแพร่ไปแล้ว  
     ผู้เขียนมีเจตนาในเชิงเปรียบเทียบ “สมมติบัญญัติ” ของ “คำ” คำนั้น แต่ไม่มีเจตนาในเชิงยุยง หรือ บ่อนทำลายความรักสามัคคีของคนไทยเรา และก็ไม่คาดคิดว่า “สมมติบัญญัติ” ของ คำว่า “ทักษิณ” จะเป็นเหมือน “สายล่อฟ้า” ได้ 
     ดังนั้น คำว่า “อภิสิทธิ์” นี้ ก็ขอให้เป็นเพียง “สมมติบัญญัติ” หรือ “คำ” คำหนึ่งที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่งเท่านั้น สุดแล้วแต่ใครจะกำหนดหมาย หรือ พิจารณา “คำ” คำหนึ่ง ในแง่มุมใด

     อภิสิทธิ์ มาจาก อภิ + สิทธิ์  คำว่า “อภิ” แปลว่า มาก; ใหญ่ ส่วน “สิทธิ์” หรือ “สิทธิ” แปลว่า ความสำเร็จ, อำนาจอันชอบธรรม  ดังนั้น “อภิสิทธิ์” พอจะหมายความว่า มีอำนาจอันชอบธรรมมาก แต่ในความหมายที่แท้จริงตามพจนานุกรม แปลว่า  สิทธินอกเหนือขอบเขต; สิทธินอกเหนือกฎหรือระเบียบที่วางไว้ ดังนั้น เพื่อเป็นไปตามเจตนาเชิงเปรียบเทียบ   
          ขออ้างเอาคำว่า “อภิสิทธิ์” หมายความว่า “มีสิทธิมาก หรือ มีอำนาจมาก”

     ในสมัยปัจจุบันนี้ คนเรามักเรียกร้อง สิ่งที่เรียกว่า “สิทธิ” ไม่ว่าจะเป็น สิทธิของสตรี สิทธิของแพทย์ หรือสิทธิของประชาชน จนหลายครั้ง ผู้เขียนมี “ความรู้สึก” ว่า เดี๋ยวนี้ คนเรามี “สิทธิ” เยอะแยะมากมายจนอาจกลายเป็น “อภิสิทธิ์” ผู้เขียนเองก็ยังมี “อภิสิทธิ์” ในบางครั้ง จนทำให้ลืมสิ่งที่สำคัญมากกว่า “สิทธิ” ซึ่งนั่นก็คือ “หน้าที่”

     “หน้าที่” มีความสำคัญมากกว่า “สิทธิ” มากมายนัก  คนเราไม่จำเป็นต้องมี “สิทธิ” หรือ “อภิสิทธิ์” มากมายเลย เราเพียงทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุดก็เพียงพอแล้ว ตัวเอง ครอบครัว องค์กร หรือแม้แต่ประเทศก็อยู่ได้ และก็ดำเนินไปด้วยดีด้วย

     ยกตัวอย่างที่เห็นชัด เช่น ในการเลือกตั้ง ประชาชนมี “สิทธิ” เลือกตั้งจะไปเลือกหรือไม่ไปก็ได้ เพราะเป็น “สิทธิ” ของคนเรา จะนอนหลับให้สบายใจ  ก็ไม่มีใครมี “สิทธิ” มาต่อว่าได้ หากไปเลือก จะเลือกคนไหนก็ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็น “คนดี” แต่ขอให้ “เก่ง” ซึ่ง “คนเก่งอาจจะไม่ใช่คนดี” หรือเลือกเพราะเหตุผลอื่น สุดท้ายแล้ว ผลออกมาเป็นอย่างไรบ้าง..

     แต่หาก คนเรา ให้ความสำคัญกับ “หน้าที่” มากกว่า “สิทธิ” ผลจะเป็นอย่างไร?
     เราก็ต้องพิจารณาว่า หน้าที่ของประชาชนในประเทศนี้มีอะไรบ้าง? ต้องทำอย่างไร?
          ง่ายสุด คือ เคารพกฎหมาย เคารพศีลธรรม เป็นพลเมืองที่ดี ดังนั้น พลเมืองที่ดี หรือ ประชาชนที่ดี ก็ควรไปเลือกตั้ง เพราะเป็น “หน้าที่ของพลเมืองที่ดี” ไม่ใช่ “สิทธิของตัวเอง” หน้าที่ของประชาชนในการเลือกตั้ง คือ เลือก “คนดี” มาทำ “หน้าที่บริหารประเทศ”

     และเช่นกัน "สตรี" หรือผู้หญิง มีการเรียกร้อง “สิทธิ” กันมากหลายประเด็น จนอาจมองข้าม “หน้าที่ตามธรรมชาติ” ของผู้หญิงไป  ขอให้ลองพิจารณาดู ส่วนผู้ชายเองก็ละเลยหน้าที่ไปมากเช่นกัน

     เพียงเสนอเพิ่มเติมว่า ก่อนที่เราจะเรียกร้อง “อภิสิทธิ์” หรือ “สิทธิ” ต่าง ๆ นานา เราเองนั้น ได้ทำ  “หน้าที่” แล้วหรือยัง  เราได้ “ทำหน้าที่” ของสามี ภรรยา แพทย์ ศิษย์ อาจารย์ พนักงาน ฯลฯ นักการเมือง คนไทย คนในโลก ดีเพียงพอแล้วหรือ?...สวัสดี



ทำ “หน้าที่” ให้ดีที่สุด “อภิสิทธิ์” ก็ไม่จำเป็น



นี่ คือ “คำ” ที่เรียงร้อยจากความคิดปรุงแต่ง วรรณพุทธ์  เพียง “คำ” คำหนึ่ง